Brand CI คืออะไร? ในการสร้างแบรนด์จะมีองค์ประกอบสำคัญหลัก ๆ อยู่ 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ Brand Concept หมายถึง แนวคิดของแบรนด์ เรื่องราว รวมไปถึงจุดเด่นต่าง ๆ ของแบรนด์ที่เราจะนำมาใช้ในการสื่อสารแบรนด์ กับส่วนที่ 2 คือ Brand Design หรือ การออกแบบแบรนด์ ซึ่งทั้งสองส่วนเป็นเรื่องสำคัญที่แบรนด์ต้องมีและต้องสื่อสารออกไปในทิศทางเดียวกันด้วย เพื่อให้ลูกค้าสามารถจดจำภาพของแบรนด์เราได้ไม่ลืม
ด้วยเหตุนี้ ขวัญจึงเน้นย้ำเสมอนะคะว่า การออกแบบแบรนด์ ที่ดี ไม่ใช่แค่ออกแบบสวย ออกแบบมาแล้วถูกใจเรา ใช้โทนสี ตัวหนังสือ หรือ ตกแต่งภาพในแบบที่เราชอบเท่านั้น แต่การออกแบบแบรนด์ที่ดี คือ ต้องสามารถสื่อสารตัวตนของแบรนด์ได้ และต้องสามารถสร้างการจดจำ สร้างภาพของแบรนด์ให้เกิดขึ้นในใจลูกค้าได้อย่างชัดเจน เพื่อให้ลูกค้าสามารถแยกแยะแบรนด์ของเราออกจากแบรนด์คู่แข่งได้ค่ะ
การที่เราจะประสบความสำเร็จในการออกแบบแบรนด์ให้มีคุณสมบัติตามที่บอกไปข้างต้น สิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นต้องมี และต้องให้ความสำคัญมาก ๆ ก็คือ Brand CI ค่ะ ดังนั้นวันนี้ขวัญเลยจะมาเจาะลึกในเรื่องนี้ตั้งแต่พื้นฐานเลยค่ะ ว่า Brand CI คืออะไร? สำคัญกับธุรกิจของเราอย่างไร? และจะมาเล่าให้ฟังด้วยค่ะว่า Brand CI ที่บริษัทหรือแบรนด์ดัง ๆ ระดับโลก ที่เค้าทำ ๆ กันนั้น มีองค์ประกอบอะไรบ้างที่ธุรกิจของเราสามารถนำมาปรับใช้ได้ กดดูในคลิปด้านล่างได้เลยค่ะ ใต้คลิปขวัญมีทำสรุปไว้ให้สำหรับคนที่ต้องการอ่านด้วยค่ะ
หัวข้อ (คลิกเลือกอ่านได้)
Brand CI คืออะไร?
CI ย่อมาจากคำว่า Corporate Identity ภาษาไทยคือ “อัตลักษณ์แบรนด์” หลายคนอาจจะงงนะคะ แต่ถ้าขวัญพูดว่า ออกแบบโลโก้ ออกแบบลายกราฟฟิค ออกแบบ Facebook cover ฯลฯ ทุกคนก็อาจจะถึงบางอ้อกัน เพียงแต่ที่ทุกคนรู้จัก เคยเห็น หรือ เคยทำมาก่อนนั้น อาจจะเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการออกแบบ Brand CI เท่านั้นค่ะ
แบรนด์ CI จริง ๆ แล้ว จะเป็นเสมือน Framework หรือ กรอบใหญ่ ๆ ของงานดีไซน์ งานออกแบบต่าง ๆ ทั้งหมดของแบรนด์เรา เป็นสิ่งที่จะช่วยกำหนดทิศทางงานออกแบบต่าง ๆ ของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ เป็นสื่อการตลาดต่าง ๆ เช่น โพสเตอร์สินค้า นามบัตร โบรชัวร์ ว่าควรจะเป็นไปแบบไหน ใช้สีอะไร ฟ้อนต์อะไร จัดวางเลย์เอาท์อย่างไรเป็นต้น
พูดง่ายๆ เวลาที่เราจะสร้างแบรนด์ให้โดดเด่น เราจะต้องสร้างระบบกราฟฟิกของบริษัท หรือของธุรกิจเราที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา โดยที่มันจะไม่ใช่แค่โลโกหรือแพ็คเกจจิ้งอย่างเดียว มันจะรวมถึงหลายๆ อย่าง ที่ประกอบกันออกมาเป็นหน้าตาของแบรนด์เราที่จะออกสู่สายตาลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น โลโก้ แพ็คเกจจิ้ง รวมไปถึงการออกแบบโซเชียลมีเดีย อย่างเวลาเราจะโพสต์อะไรลงไปในเฟสบุ๊ค หรือว่าการออกแบบเว็บไซต์ก็เป็นส่วนหนึ่ง แม้แต่เครื่องแบบยูนิฟอร์มของพนักงาน ของที่ระลึกที่เราให้ลูกค้า นามบัตร แฟ้มเอกสาร ฯลฯ เหล่านี้ก็ถือเป็นการออกแบบ Brand CI แบบหนึ่งเช่นกัน
บริษัทหรือแบรนด์ที่ออกแบบตัว CI ได้อย่างเป็นระบบ มีเอกลักษณ์ และมีความสวยงาม จะมีข้อได้เปรียบคู่แข่งในเรื่องของความน่าเชื่อถือ ลูกค้าจดจำแบรนด์ของเราได้ ที่สำคัญคือ ทำให้แบรนด์ของเรามีเอกลักษณ์แตกต่างออกมาจากคู่แข่งค่ะ ลองดูภาพตัวอย่างที่ขวัญนำมาจากเว็บไซต์ที่ชื่อว่า Packaing of the World ด้านล่าง จะเห็นได้ว่าการออกแบบบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดมีจุดเชื่อมโยงเดียวกัน เช่น การจัดวางเลย์เอาท์ การใช้ตัวอักษร ฯลฯ และดูเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การเลือกใช้โทนสี เป็นต้น แบบนี้แหละค่ะที่เรียกว่า “ดูมีความเป็นแบรนด์”
Brand CI ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง?
องค์ประกอบที่ 1: โลโก้
โลโก้เป็นองค์ประกอบของแบรนด์ CI ที่สำคัญมากนะคะ เพราะเป็นอันดับต้น ๆ เลยที่จะช่วยให้คนสามารถจดจำแบรนด์ของเราได้ ในโลโก้จะต้องประกอบไปด้วยสีประจำแบรนด์ ตัวอักษรประจำแบรนด์ อาจจะมีลายกราฟิคประจำแบรนด์ด้วย ที่สำคัญคือทั้งหมดเมื่อรวมกันแล้วจะต้องสามารถสื่อสาร Brand Concept ของแบรนด์ได้อย่างชัดเจนและมีเอกลักษณ์โดดเด่น สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วย เมื่อลูกค้าเห็นสินค้าที่มีโลโก้ของเราอยู่ปุ๊ป ควรต้องรู้ได้เลยทันทีว่าเป็นสินค้าของแบรนด์เรา ไม่ใช่ของคู่แข่ง แบบนี้เป็นต้น
นอกเหนือจากการออกแบบและการสื่อสารแบรนด์คอนเซ็ปท์แล้ว เราจำเป็นต้องมี Logo Usage หรือข้อกำหนดการใช้โลโก้ด้วยนะคะ ยกตัวอย่างเช่น
- ลักษณะโลโก้ที่สามารถใช้ได้ ทั้งแบบสี แบบโมโนโทน และแบบที่เป็นขาวดำ
- ขนาดเล็กสุดของโลโก้เมื่อนำไปประกอบงานออกแบบอื่น ๆ
- สีพื้นหลัง (Backgroud) ที่สามารถจัดวางโลโก้ได้ และเมื่อจัดวางแล้วจะมีการสลับสีโลโก้หรือไม่ อย่างไร
- ระยะห่างของโลโก้กับกรอบข้อความ และ ระยะห่างจากองค์ประกอบอื่น ๆ ในภาพ
- ฯลฯ
สาเหตุที่เราต้องมีกำหนดการใช้งาน ก็เพื่อให้โลโก้ของเราเมื่อเวลาปรากฏสู่สายตาลูกค้า จะต้องมีภาพลักษณ์ที่ดีและต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์และธุรกิจของเราได้นั่นเองค่ะ
องค์ประกอบที่ 2: Font ประจำแบรนด์
Font หรือ ตัวหนังสือประจำแบรนด์มีความสำคัญมากเช่นกันนะคะ เพราะนอกจากจะช่วยสร้างการจดจำแล้วยังสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ได้อีกด้วยค่ะ การเลือก Font ประจำแบรนด์ก็มีหลักเกณฑ์สำคัญ ๆ ที่ต้องคำนึงถึงดังนี้
- Font ที่เลือก ต้องมีลักษณะที่เหมาะกับประเภทธุรกิจ
- Font ที่เลือก ต้องเหมาะกับคอนเซปท์และบุคลิกของแบรนด์ เช่น เข้มแข็ง น่าเชื่อถือ น่ารัก อ่อนหวาน สนุกสนาน เป็นต้น
- แนะนำให้เลือกทั้ง Font ภาษาไทย และ Font ภาษาอังกฤษไปเลยค่ะ โดย Font ที่เราเลือกทั้ง 2 ภาษา จำเป็นต้องมีความสอดคล้องกันด้วย เพราะเมื่อเรานำมาทำอาร์ตเวิร์ค หรือในงานออกแบบบางชิ้นที่ต้องมีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เช่น โบรชัวร์ เว็บไซต์ เป็นต้น เมื่อออกแบบมาแล้วต้องดูสอดคล้องกลมกลืนกันค่ะ
- Font ที่เลือก ควรมีภาษาละ 2 ฟ้อนท์ สำหรับไว้ทำ Headline / Title คือ พาดหัวหรือหัวข้อ และสำหรับเป็นข้อความธรรมดา โดย Headline เราอาจเลือกฟ้อนต์ที่ดูน่าสนใจ ดึงดูดสายตา เช่น ตัวหนา ไม่มีหัว ดูทันสมัย แต่ในขณะที่ฟ้อนต์สำหรับข้อความอาจจะเลือกเป็นฟ้อนต์มีหัวที่อ่านง่าย ดูสบายตา เป็นต้น
องค์ประกอบที่ 3 สีประจำแบรนด์
สีประจำแบรนด์ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ส่งผลโดยตรงต่อแบรนด์ค่ะ ช่วยให้คนจดจำแบรนด์ของเราได้ดี นอกจากนี้สียังส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ต่อความเชื่อถือของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ รวมถึงสีบางสียังทำให้คนเราสามารถเชื่อมโยงกับบางสิ่งหรือบางเรื่องได้ ยกตัวอย่างเช่น
- สีแดง ให้ความรู้สึกและแสดงออกถึง ความร้อนแรง พลังงาน ความก้าวหน้า ความทะเยอะทะยาน บางครั้งสีแดงหมายถึงอันตราย สารเคมี มีพิษร้ายแรงก็ได้เช่นกันค่ะ
- สีน้ำเงิน แสดงถึง ความมั่นคง ความเข้มแข็ง ความน่าเชื่อถือ ความทันสมัย เทคโนโลยี ถ้าเป็นสีน้ำเงินเข้มก็จะให้ความรู้สึกเงิน สงบ แต่ถ้าน้ำเงินเข้มจนเกือบดำก็จะแสดงถึงความลึกลับ
- สีเขียว สื่อถึงความสบายปลอดโปร่ง ธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สดใส
- สีส้ม สื่อถึง พลังงานด้านบวก ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การเริ่มต้นใหม่ สติปัญญา เป็นต้น
ในการเลือกสีประจำแบรนด์ ขวัญแนะนำให้เลือกเป็นเฉดสีไปเลยนะคะ เพราะถ้าเป็นสีแบบแม่สีทั่วไป ก็มีแนวโน้มว่าจะไปซ้ำไปเหมือนกับแบรนด์หรือธุรกิจอื่น ๆ ได้ง่ายค่ะ แต่ถ้าเป็นเฉดสี โอกาสจะเลือกสีซ้ำกันกับแบรนด์อื่นก็จะน้อยลงค่ะ นอกจากนี้ยังควรเลือกสีที่จะมาจับคู่กันไว้ด้วยเพื่อให้การนำไปใช้งานมีความสะดวก สวยงาม และดูมีมิติมากกว่าการใช้สีเดียวค่ะ
องค์ประกอบสำคัญที่ 4: ลายกราฟิกประจำแบรนด์
ลายกราฟิกเป็นเหมือนสัญลักษณ์บางอย่างที่ช่วยสร้างการจดจำให้กับลูกค้าของเราได้ สาเหตุที่ต้องมีลายกราฟิกประจำแบรนด์ส่วนหนึ่งก็เพราะในบางครั้งคู่สีหรือฟ้อนต์ที่เราเลือกมานั้นอาจจะยังไม่สามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้มากนัก ยกตัวอย่าง เช่น เราเป็นธุรกิจรับทำความสะอาดที่คนส่วนใหญ่กว่า 90% เลือกใช้สีฟ้า สีเขียว ทีนี้พอทุกแบรนด์ใช้สีเดียวกัน ฟ้อนต์ก็ดูคล้ายๆ กัน เราก็จำเป็นต้องนำเสนออย่างอื่นให้ลูกค้าได้จดจำ ก็ได้แก่สัญลักษณ์บางอย่าง ลายกราฟิกต่าง ๆ ที่เพิ่มเข้ามา ช่วยให้จดจำเพิ่มมากขึ้น
ยกตัวอย่างสัญลักษณ์ของสตาร์ทอัพ นาว จะเป็นสัญลักษณ์ที่เหมือนตัว Play โดยขวัญตั้งชื่อมันว่าตัว Play Forward สื่อถึงการเดินไปข้างหน้า ตรงตามความตั้งใจและคอนเซปต์ของสตาร์ทอัพนาว ที่ทางขวัญอยากจะทำแบรนด์หรือธุรกิจที่ช่วยให้ SMEs ได้เดินต่อไปข้างหน้าได้
หลักการออกแบบกราฟิกประจำแบรนด์แบบง่าย ๆ ส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีเลือกหยิบลายเส้นบางส่วนออกมาจากโลโก้ แล้วลดทอนรายละเอียดบางอย่างลง เหลือแค่สัดส่วนที่สำคัญ ที่มีความหมาย ที่สื่อถึงแบรนด์และช่วยสร้างการจดจำ เหมือนอย่างตัวสัญลักษณ์ Play Forward ที่มีลายเส้นอยู่ในตัวโลโก้ของสตาร์ทอัพนาว เป็นต้น
องค์ประกอบที่ 5 ของ Brand CI: ไอคอนต่างๆ
สำหรับองค์ประกอบนี้ ถ้าเราเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการอาศัยความน่าเชื่อมาก ๆ เราอาจจะต้องสร้างไอคอนเฉพาะของบริษัทเราขึ้นมา เพื่อใส่ลงในเว็บไซต์ เอกสารทางการตลาด ในแคตตาล็อก ในพรีเซนเทชั่นแนะนำบริษัท หรือแม้แต่บนฉลากสินค้าหรือแท็กห้อยสินค้า เป็นต้น
หรืออย่างบริษัท สตาร์ทอัพนาว ขวัญก็ได้ออกแบบไอคอนประจำแบรนด์ไว้สำหรับใส่ลงในเว็บไซต์ รวมถึงสื่อการตลาดต่าง ๆ เช่น โบรชัวร์ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าไอคอนประจำแบรนด์สตาร์ทอัพนาวจะสื่อถึงกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การตลาดออนไลน์ สื่อออนไลน์
แต่ถ้าสมมติว่าคุณเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขวัญมองว่าอาจจะไม่ต้องวาดไอคอนประจำแบรนด์ขึ้นมาใหม่ แต่แนะนำให้ใช้วิธีเลือกดาวน์โหลดไอคอนสำเร็จรูปจากเว็บไซต์ Stock Photo อย่างเช่น Shutter Stock , Freepik ก็มีให้เลือกดาวน์โหลดเป็นพัน ๆ แบบเลยค่ะ
สำหรับเว็บไซต์ที่มีให้ดาวน์โหลดไอคอนได้ ขวัญแนะนำให้ อ่านบทความเรื่อง “แนะนำแหล่งดาวน์โหลดรูปฟรีอย่างถูกวิธี” ซึ่งขวัญเขียนไว้ก่อนหน้านี้ นอกจากขวัญจะแนะนำเว็บไซต์แล้วยังมีคลิปสอนขั้นตอนการดาวน์โหลดรูป/ไอคอนอย่างถูกวิธี รวมถึงหลักในการดูลิขสิทธิ์ของภาพด้วยค่ะ
องค์ประกอบที่ 6 Moon&Tone
Mood & Tone หมายถึง อารมณ์ ความรู้สึก ของลูกค้าเมื่อได้สัมผัสกับแบรนด์ ซึ่งมาจากการพยายามสื่อสารตัวตน คอนเซปท์ จุดเด่น บุคลิกภาพของแบรนด์ที่เราต้องการสื่อให้ไปถึงลูกค้า โดยอาจนำเสนอผ่านทางการออกแบบต่าง ๆ ที่แบรนด์เลือกใช้ อาทิ ภาพถ่ายสินค้า รูปภาพประกอบคอนเทนต์ ภาพกราฟิก โทนสีและลวดลายที่อยู่บนแพคเกจจิ้ง เหล่านี้เป็นต้น
ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าสินค้าของเราคือ สกินแคร์ หรือ เครื่องสำอางออแกนิค จุดเด่นของแบรนด์ที่เราอยากให้ลูกค้าจดจำแบรนด์เราก็คือ เป็นสินค้าออแกนนิค ผลิตจากสารสกัดธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี สิ่งที่เราจะต้องสื่อสารออกไปให้ถึงลูกค้าก็คือ ความเป็นธรรมชาติ ความอบอุ่นอ่อนโยน ความปลอดภัย ผิวสุขภาพดี เป็นต้น ดังนั้น Mood & Tone ของงานดีไซน์ ภาพที่เราเลือกใช้ก็ต้องเป็นไปในทิศทางดังกล่าวด้วย เช่น เราอาจจะเลือกใช้โทนสีขาว-เขียว เพื่อสื่อถึงความเป็นธรรมชาติ เลือกใช้โทนสีอ่อนเพื่อสื่อถึงความอ่อนโยน เป็นต้น
อย่างภาพตัวอย่างด้านล่างนี้นะคะ เป็น Mood & Tone ของทางสตาร์ทอัพนาว ที่เน้นสื่อสารความรู้สึกของเจ้าของธุรกิจ เจ้าของแบรนด์ ในแง่มุมต่าง ๆ ที่เป็นไปในเชิงบวก เช่น ความมั่นใจ ความเชื่อมั่น ความคิดสร้างสรรค์ ทีมเวิร์ค เป็นต้น และความรู้สึกที่เราต้องการสื่อให้ถึงใจลูกค้าก็คือ ให้มั่นใจได้ว่าเราเป็นที่ปรึกษาที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ที่พร้อมแบ่งปันให้คุณก้าวไปสู่ความสำเร็จ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องพยายามคุม Mood & Tone ของงานออกแบบของแบรนด์ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทุกช่องทางการตลาด เช่น ลูกค้าที่เข้าหน้าเพจของเรามา ต้องรู้สึกและสัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึกได้แบบเดียวกันกับลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ รวมถึงสื่อการตลาดต่าง ๆ อย่างโบรชัวร์ แพคเกจจิ้งสินค้า นามบัตรเซลล์ ก็ต้องเป็นไปในทิศทางที่กำหนดด้วย
องค์ประกอบที่ 7: Brand Communication Design
คือการที่เรานำ Brand CI ทั้ง 6 องค์ประกอบข้างต้น มาออกแบบเป็น Mock-up หรือแบบจำลองตัวอย่างงานจริงที่จะนำมาใช้กับแบรนด์หรือธุรกิจของเรา ก็คือไม่ว่าจะเป็นการนำ Font นำคู่สี นำลายกราฟฟิกประจำแบรนด์ เอามาใช้ออกแบบเลยค่ะเพื่อให้เห็นภาพการนำไปใช้งานจริง ๆ ว่าควรจะต้องกำหนดขนาดเท่าไหร่ มีการจัดวางเลย์เอาท์ (Layout) ของแต่ละชิ้นงานอย่างไร เพื่อให้มีความสวยงามและสื่อสารแบรนด์ได้ดีที่สุด
ยกตัวอย่าง Brand Communication Design ของสตาร์ทอัพนาว ตามตัวอย่างด้านบน จะเห็นว่ามีการเอาสีประจำแบรนด์ หรือเอากราฟฟิกมาออกแบบเป็นหัวจดหมาย ยูนิฟอร์ม โบรชัวร์ ปกเอกสาร เป็นต้น ซึ่ง mock-up งานดีไซน์เหล่านี้ เราสามารถนำไปประยุกค์ใช้กับงานออกแบบคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียก็ได้นะคะ
สำหรับ Mock-up งานดีไซน์ที่ขวัญแนะนำว่าให้ทำไปพร้อม ๆ กับการออกแบบ Brand CI เลยเพราะได้นำไปใช้งานจริงอย่างแน่นอน ได้แก่
- Presentation Template
- Social Media Template สำหรับการทำคอนเทนต์ ทำเพจ ผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ เช่น ภาพหน้าปก Facebook Cover, Template สำหรับโพสต์เฟสบุ๊คหรือไอจี ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมจัตุรัส แบบแกลอรี่ แบบแบนเนอร์ ฯลฯ
- ยูนิฟอร์มพนักงาน
- นามบัตร
- โบรชัวร์
- แคตตาล็อกสินค้า
- ป้ายโฆษณากลางแจ้ง
- บูธแสดงสินค้า
- ฯลฯ
หมายเหตุ:
Brand Communication Design จะเป็นเพียงแบบจำลองงานออกแบบที่นำเอาองค์ประกอบ Brand CI ที่เราทำไว้ในข้อ 1-6 มาทำให้เราเห็นภาพว่าพอเมื่อนำองค์ประกอบต่าง ๆ มารวมกันในงานดีไซน์ประเภทต่าง ๆ แล้ว จะมีหน้าตาคร่าว ๆ อย่างไร ภาพรวมของแบรนด์จะมีหน้าตาแบบไหน ยังไม่ใช่การออกแบบโบรชัวร์หรือสื่อการตลาดจริง ๆ นะค
วิธีการใช้งาน Brand Communication Design คือ เวลาที่เราจะต้องผลิตงานออกแบบนั้นจริง ๆ เช่น กำลังจะสั่งผลิตโบรชัวร์สินค้า ผลิตนามบัตรแจกเซลล์ เราก็จะมีตัวอย่างงานจริงอยู่แล้ว ให้เรานำ Mock-up งานไปบรีฟกราฟิกต่อได้เลยว่าต้องการงานแบบนี้ ให้กราฟิคนำเอาองค์ประกอบข้อ 1-6 มาจัดเลย์เอาท์ตามต้นแบบได้เลย สิ่งที่จะต้องเพิ่มเติมลงไปก็มีเพียงแค่ Text หรือข้อความนั่นเอง จะทำให้การทำงานสะดวกและเสร็จรวดเร็วขึ้นมากค่ะ
Brand Design Book สิ่งที่ต้องมีเมื่อทำ Brand CI
ในการออกแบบ Brand CI เราจำเป็นต้องจัดทำขึ้นมาเป็นเอกสารที่เรียกว่า Brand Design Book หรืออย่างของ Startup Now ขวัญจะใช้ชื่อว่า Brand Manual คือ เป็นเอกสารคู่มือการออกแบบแบรนด์ที่รวบรวมแนวทาง ทิศทาง รูปแบบ และข้อกำหนดต่าง ๆ ในการทำงานออกแบบของแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสำหรับการใช้งานออฟไลน์ หรือ การใช้งานออนไลน์ก็ตาม รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ สามารถหยิบมาใช้เป็น reference งานออกแบบของแบรนด์ได้ตลอดไปจนกว่าจะมีการรีแบรนด์ (Rebranding) ค่ะ
การมีเอกสารคู่มือการออกแบบแบรนด์ หรือ Brand Design Book / Brand Manual จะช่วยให้เราสามารถต่อยอดงานออกแบบต่าง ๆ ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้นค่ะ เพราะมีกรอบและทิศทางการออกแบบที่กำหนดไว้อยู่แล้ว เราจึงสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องเสียเวลามาคิดเรื่องการสื่อสารตัวตนแบรนด์ทุกครั้งก่อนออกแบบ
นอกจากนี้ หากองค์กรของเราไม่ได้มีกราฟิกที่เป็นพนักงานประจำ แต่เราใช้วิธีจ้างบริษัทออกแบบหรือจ้างฟรีแลนซ์มาทำงานออกแบบสื่อการตลาดต่าง ๆ อาทิ ทำคอนเทนต์ ทำโพสต์ ทำเว็บไซต์ ทำโปสเตอร์ โบรชัวร์ เป็นต้น ทำเป็นจ๊อบเป็นชิ้นงานไป ตลอดการทำธุรกิจเราอาจจะไม่ได้จ้างแค่เจ้าใดเจ้าเดียว แต่อาจจะจ้างหลายเจ้า ดังนั้นการที่เรามีเอกสารคู่มือมาเป็นกรอบกว้าง ๆ ของการออกแบบ ก็จะช่วยให้เราบรีฟงาน outsource เหล่านั้นได้ง่ายขึ้น รวมถึงสามารถคุมภาพแบรนด์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ด้วยแม้ว่าจะมาจากการออกแบบของกราฟิกดีไซเนอร์หลาย ๆ คนก็ตาม
อย่าลืมติดตามข่าวสาร สาระ เรื่องราวดิจิตอล ฉบับเข้าใจง่ายได้ทุกวันที่ Facebook Fanpage ของ StartUp Now นะคะ STARTUP NOW Facebook Fanpage
อ่านเรื่องการตลาดดิจิตอลเพิ่มเติมได้ที่นี่ บทความการตลาดออนไลน์
อยากดูคลิปความรู้ดิจิตอลฉบับเข้าใจง่ายคลิปอื่น ๆ ไปเยี่ยมชมช่อง YouTube ของ StartUp Now กัน