ทักษะการยิงโฆษณา Facebook น่าจะเป็นการเรียนรู้ที่ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ นักการตลาด เกือบทุกคนอยากเรียนรู้ เพราะสำหรับการวางแผนการตลาดออนไลน์ ช่องทางการตลาดออนไลน์ที่ใหญ่และมีอิทธิพลมาก ๆ อย่างเฟซบุ๊ก ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่หลายธุรกิจเลือกใช้เป็นช่องทางหลัก
ทั้งนี้ก็เพราะนอกจากเฟสบุ๊คจะเป็นแพลตฟอร์มที่รองรับการทำธุรกิจได้อย่างเหมาะสม สามารถเผยแพร่คอนเทนต์ได้หลากหลายรูปแบบแล้ว ที่สำคัญยังมีฟังค์ชั่นการยิงโฆษณาที่ช่วยให้ธุรกิจของเราสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำและมีจำนวนมากขึ้นได้อีกด้วย
แต่ว่าเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการยิงโฆษณาที่เราทำอยู่นั้นถูกต้อง ครบถ้วน มีประสิทธิภาพได้ผลดีที่สุด? แน่ใจหรือไม่ว่างบโฆษณาที่เราลงไปนั้นคุ้มค่าที่สุด? รวมถึงสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ว่าแอดโฆษณาเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการปิดการขายได้สำเร็จ?
บทความนี้สตาร์ทอัพ นาว จึงนำเสนอขั้นตอนการยิงแอดเฟสบุ๊ค ปี 2020 โดยละเอียด แบบสเต็ปบายสเต็ป ให้ทุกคนสามารถอ่านและทำตามทีละขั้นตอนได้ง่าย ๆ ขณะเดียวกันคนพอทำเป็นอยู่แล้ว ก็จะสามารถรีเช็คการทำงานของตัวเองได้ด้วยว่าถูกต้อง ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพดีแล้วหรือยัง
หัวข้อ (คลิกเลือกอ่านได้)
3 เรื่องที่สตาร์ทอัพนาวอยากบอกให้คุณรู้ก่อน สอนยิงแอดเฟสบุ๊ค
เรื่องที่ 1 ต้องเป็นเฟสบุ๊คแฟนเพจเท่านั้น
ในการทำธุรกิจโดยใช้ Facebook Marketing สตาร์ทอัพ นาว จะเน้นย้ำอยู่เสมอนะคะ ว่าถ้าเราอยากที่จะขายสินค้าและปิดการขายให้สำเร็จ รวมถึงแบรนด์เราเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เราต้องโพสต์ลงในเฟสบุ๊คแฟนเพจ ไม่ใช่โพสต์ลงไปในเฟสบุ๊คส่วนตัวของเราเอง
เฟสบุ๊กส่วนตัวของเราไม่สามารถรองรับการทำธุรกิจได้ทำ เพราะไม่มีฟังค์ชั่นที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงข้อมูลเชิงลึก การรองรับรูปแบบคอนเทนต์ที่หลากหลาย ที่สำคัญคือ เฟสบุ๊คส่วนตัวไม่สามารถยิงโฆษณาได้ค่ะ
เรื่องที่ 2 ต้องไม่ใช้มือถือในการยิงแอดเฟสบุ๊ค
มือถือจะแสดงตัวเลือกที่สำคัญ ๆ ในการเลือกยิงโฆษณาให้น้อยมาก ๆ ทำให้การตั้งค่าต่างๆ ทำได้ยาก ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายที่เลือกอาจจะยังไม่ตรงหรือไม่แม่นยำรวมถึงค่าโฆษณาที่ใช้ก็อาจจะแพงขึ้นแต่กลับได้ผลไม่มากเท่าที่ควรก็เป็นได้
นอกจากนี้ เราไม่ควรกดปุ่ม “โปรโมทโพสต์” ที่ปรากฏอยู่ใต้โพสต์ในหน้าแฟนเพจของเราด้วยเช่นกัน เพราะตัวเลือกที่แสดงก็จะน้อยกว่าปกติ คล้าย ๆ กับการใช้มือถือในการยิงแอดเลยค่ะ
ข้อควรจำ: การยิงแอดเฟสบุ๊คที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพที่สุด ควรโฆษณาด้วยการใช้ระบบที่เรียกว่า Facebook Ads manager ซึ่งเป็นระบบหลังบ้านของเฟสบุ๊คใช้สำหรับการยิงโฆษณาโดยเฉพาะ โดยระบบนี้จะสามารถเข้าผ่านคอมพิวเตอร์ได้เท่านั้น
เรื่องที่ 3 กำหนดวัตถุประสงค์ในการยิงโฆษณาให้แน่ชัด
ในการยิงโฆษณาเฟสบุ๊ค เราแบ่งออกเป็น 2 แบบ
- การโฆษณาเพจ มีวัตถุประสงค์คือ เพิ่มจำนวนคนถูกใจเพจธุรกิจของเราเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เมื่อเข้ามาเยี่ยมชมแฟนเพจ มักดูที่จำนวนคนกดถูกใจและจำนวนผู้ติดตามของเพจด้วยว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน แบรนด์ไหนที่แฟนเพจมีจำนวนผู้กดถูกใจจำนวนมากก็มักจะได้รับความเชื่อถือ ความไว้วางใจจากลูกค้ามากกว่า
- การโฆษณาโพสต์ มักทำเมื่อเราโพสต์โฆษณาสินค้าลงในเพจธุรกิจของเราแล้ว และต้องการที่จะนำเสนอโพสต์ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าหรือกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าของเราให้ได้จำนวนมาก ให้คนได้เห็นข้อมูลสินค้าเราเยอะ ๆ บ่อย ๆ ซึ่งหมายถึงโอกาสในการปิดการขายที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
สอนยิงแอดเฟสบุ๊ค ให้คุณทำตามขั้นตอนไปพร้อม ๆ กัน
ในการโฆษณาโพสต์ มีวิธีสร้าง 2 แบบด้วยกัน
- สร้างโพสต์ในเพจไปก่อน แล้วค่อยไปกดสร้างโฆษณาโพสต์ทีหลัง
- สร้างโฆษณาไปก่อน แล้วค่อยไปสร้างโพสต์ในระหว่างขั้นตอนของการโฆษณาเลย
ซึ่งสำหรับบทความนี้ สตาร์ทอัพ นาว จะ สอนยิงแอดเฟสบุ๊ค แบบที่ 1 คือ สร้างโพสต์ในเพจไปก่อน แล้วค่อยมายิงโฆษณา ถ้าพร้อมแล้ว คุณสามารถกดดูคลิปวีดีโอด้านล่างนี้ และทำตามไปพร้อม ๆ กันได้เลยค่ะ ด้านล่างคลิป มีสรุปขั้นตอนเป็นข้อ ๆ ให้คุณจดจำและนำไปใช้ได้อย่างง่าย ๆ เลยค่ะ
สรุป 16 ขั้นตอน สอนยิงแอดเฟสบุ๊ค
1. สอนยิงแอดเฟสบุ๊ค – เริ่มจากเตรียมคอนเทนต์ เตรียมรูปสินค้า โพสต์ลงไปในเพจก่อน
2. เข้าสู่ระบบ Facebook Ads Manager
ซึ่งเป็นระบบหลังบ้านของแฟนเพจเฟสบุ๊ค เพื่อการยิงโฆษณา วิธีการเข้าสู่ระบบนี้ทำได้ 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1: พิมพ์ business.facebook.com/adsmanager ลงในช่อง url หรือ ช่องค้นหาเว็บไซต์
วิธีที่ 2: เข้าไปที่หน้าแฟนเพจของธุรกิจเรา แล้วกดที่เครื่องหมายบวกด้านบนทางขวา จะมีคำว่า “สร้าง” ขึ้นมา กด 1 ครั้ง แล้วกดคำว่าโฆษณา
3. คลิกที่คำว่า “ไปที่ตัวจัดการโฆษณา”
บริเวณด้านล่างสุดอีกหนึ่งครั้งเพื่อเข้าสู่ระบบหลังบ้านที่แสดงข้อมูลเชิงลึกและฟีเจอร์โฆษณาของ Ads Manager อย่างครบถ้วน
4. กดปุ่มสีเขียวด้านซ้ายมือคำว่า “สร้าง”
5. เลือก “วัตถุประสงค์” ของแคมเปญ
เฟสบุ๊คจะนำเอาวัตถุประสงค์ที่เราเลือกไปพิจารณาในเรื่องของการนำส่งโพสต์ของเราสู่กลุ่มเป้าหมายด้วย ถ้าเราบอกวัตถุประสงค์ของแคมเปญผิด จะทำให้ประสิทธิภาพโฆษณาของเราลดน้อยลง
ประเภทของวัตถุประสงค์แคมเปญโฆษณาเฟสบุ๊คที่สตาร์ทอัพ นาว สรุปมาให้จำง่าย ๆ ในการ สอนยิงแอดเฟสบุ๊ค มีดังนี้
1. วัตถุประสงค์กลุ่ม Awareness หรือ การรับรู้แบรนด์
- การรับรู้แบรนด์ จะเป็นเรื่องของการที่นำส่งไปหาคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ว่าคนหนึ่งจะเห็นหลาย ๆ ครั้งก็ได้ เหมาะกับแบรนด์สินค้าที่มีความซับซ้อน มีปริมาณข้อมูลรายละเอียดสินค้าที่ลูกค้าต้องรู้จำนวนมากก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ
- การเข้าถึง จะเป็นหัวข้อที่เราเลือกเวลาที่เราอยากให้นำส่งโพสต์ไปหาคนจำนวนมากที่สุด แต่ไม่ต้องเห็นซ้ำก็ได้ อาจจะเห็นแค่คนละ 1-2 ครั้ง ก็พอ
2. วัตถุประสงค์กลุ่ม Consideration หรือ การพิจารณา
ในส่วนนี้จะมีวัตถุประสงค์ที่ใช้บ่อยอยู่ไม่กี่ประเภท ได้แก่
- Traffic (จำนวนผู้เข้าชม) เหมาะกับธุรกิจที่มีเว็บไซต์ และต้องการให้คนเข้าไปที่เว็บไซต์ของเรา เช่น อยากปิดการขายผ่านเว็บไซต์ เพราะมีระบบตะกร้ารองรับ เป็นต้น เฟสบุ๊กก็จะนำส่งโพสต์นี้ไปหาคนที่มีแนวโน้มจะคลิกลิ้งค์เข้าไปที่เว็บของเรา
- Engagement (การมีส่วนร่วม) เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการสร้างยอดไลค์ คอมเมนต์ สร้างไวรัลให้เกิดการแชร์โพสต์กันเยอะๆ หรืออยากให้คนคลิกดูรูปในโพสต์หรือในแกลอรี่โพสต์ ซึ่งเฟสบุ๊คก็จะนำส่งโพสต์ที่เลือกวัตถุประสงค์ประเภทนี้ไปให้คนที่ชอบคลิก ชอบคอมเมนต์ ชอบแชร์ ชอบมีส่วนร่วมกับโพสต์
- App Installs (การติดตั้งแอพ) คือ เรามีแอพลิเคชัน และต้องการให้คนคลิกที่โพสต์เพื่อให้ติดตั้งแอพของเรา
- VDO Views (การรับชมวีดีโอ) คือ การทำโพสต์โฆษณาสินค้าในรูปแบบของวิดีโอ ต้องการให้คนดูวิดีโอจำนวนมาก ให้เกิดยอดวิวเยอะ ๆ
- Lead Generation (การสร้างลูกค้าเป้าหมาย) เหมาะกับแบรนด์หรือสินค้าที่ต้องการให้ลูกค้ากรอกข้อมูลติดต่อเพิ่มเติม อาทิอีเมล์หรือเบอร์โทรเพื่อให้เซลล์ติดต่อไปปิดการกาย เหมาะกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ สินเชื่อ ประกันภัย เป็นต้น
- Message (ข้อความ) เป็นวัตถุประสงค์ที่ใช้กันเยอะมากที่สุดเลยสำหรับพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ คือ ต้องการให้คนทัก inbox เพื่อสอบถามหรือสั่งซื้อสินค้า
3. วัตถุประสงค์กลุ่ม Conversion (คอนเวอร์ชั่น)
- คอนเวอร์ชั่น คือ การติดตั้งรหัสที่เว็บไซต์ของเรา และเราต้องการหาลูกค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับคนที่คลิกเข้าไปในหน้าเว็บไซต์
- ยอดขายของแคตตาล็อก คือ การโฆษณาโดยดึงข้อมูลจากแคตตาล็อกสินค้าบนหน้าเว็บไซต์ (คล้ายกับลาซาด้า)
- การเยี่ยมชมหน้าร้าน เหมาะกับร้านค้าที่มีหลายสาขา ต้องการทำโฆษณาเพื่อดึงคนให้ไปใช้บริการที่หน้าร้าน
6. ตั้งชื่อแคมเปญโฆษณา และกดปุ่ม “ดำเนินการต่อ” ที่มุมล่างขวา
- เทคนิคจากสตาร์ทอัพ นาว: แนะนำให้ตั้งชื่อที่เข้าใจง่ายและเราสามารถจดจำได้ง่ายเพื่อให้สะดวกกับการย้อนกลับมาดูข้อมูล ดูผลตอบรับ ดูค่าโฆษณา ฯลฯ หลังจากการยิงโฆษณาไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น STARTUPNOW-โปรโมชั่นเดือนกันยายน-สมัคร 2 คอร์ส ลด 15%-1 ถึง 15 ก.ย. 63
7. กด “ถัดไป” อีกครั้งเมื่อเข้าสู่การตั้งค่าอื่น ๆ
ได้แก่ รายละเอียดแคมเปญ การทดสอบ A/B Testing ซึ่งเป็นการตั้งค่าที่ละเอียดและ advance มากเกินไปสำหรับผู้เริ่มต้น เราสามารถเว้นไว้ก่อนได้ และกดปุ่ม “ถัดไป” ได้เลย
8. กำหนด “ปลายทางของข้อความ”
จากที่เราเลือกวัตถุประสงค์แคมเปญในข้อ 5 เป็น “ข้อความ” เฟสบุ๊คจึงให้เรายืนยันปลายทางของข้อความด้วย
หมายถึง เมื่อลูกค้าเห็นโฆษณาโพสต์ของเราแล้วสนใจอยากสั่งซื้อสินค้า เมื่อคลิกส่งข้อความ เราอยากให้การทักแชทจากลูกค้าเชื่อมไปสู่ที่ไหน ตัวเลือกมี Facebook Messenger หรือทัก inbox, WhatApps, และ Direct Message ในอินสตาแกรม ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเลือกคุยกับลูกค้าผ่าน Facebook Messenger
9. กำหนดงบประมาณ
เฟซบุ๊กมีระบบการกำหนดงบประมาณ 2 แบบ
- งบประมาณต่อวัน
- งบประมาณตลอดอายุการใช้งาน
10. กำหนดกลุ่มเป้าหมาย
การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ทำตามขั้นตอนดังนี้
10.1 กำหนดตำแหน่งที่อยู่ของกลุ่มเป้าหมายและที่ตั้งของธุรกิจ
- กดกากบาทปิดชื่อประเทศเดิมที่มีอยู่
- พิมพ์ชื่อจังหวัด ให้ลองพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้ระบบหาเจอ
- สามารถใส่เป็นรหัสไปรษณีย์ก็ได้
เราสามารถกดปักหมุดจังหวัดที่บริษัท หรือ หน้าร้านของธุรกิจอยู่เราได้ด้วย ตามสเต็ปง่าย ๆ 4 ขั้นตอน
ข้อควรจำ: ด้านหลังตัวเลือกที่เป็นจังหวัด ให้สังเกตคำว่า “รัฐ” และ “เมือง” มีความแตกต่างกัน
-
- รัฐ (State) ความหมายคือ เลือกเฉพาะคนที่อยู่ในขอบเขตจังหวัดที่เราเลือกโดยวัดจากเส้นแบ่งเขตจังหวัดแบบเป๊ะ ๆ เลย
- เมือง (City) จะใช้วิธีการปักหมุดที่กึ่งกลางจังหวัดที่เลือก และตีรัศมีออกเป็นกิโลเมตร โดยที่เราสามารถกำหนดจำนวนกิโลเมตรที่ต้องการได้
- เทคนิคจากสตาร์ทอัพ นาว: เราสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของเราได้ คือ กรณีที่เป็นธุรกิจที่คนต้องมาเยี่ยมชมหรือมีหน้าร้านที่เน้นขายคนพื้นที่ อาทิ ร้านอาหาร หมู่บ้านจัดสรร เราก็เลือกรัฐ (State) แต่ถ้ากรณีที่ธุรกิจของเราสามารถขายให้กับผู้ที่อยู่จังหวัดใกล้เคียงได้ ก็เลือกด้านหลังเป็นคำว่า เมือง หรือ City แล้วตีรัศมีออกไปตามระยะทางที่เราสามารถจัดส่งได้ ก็จะสามารถเข้าถึงคนจำนวนมากขึ้นในเขตพื้นที่ที่กว้างมากขึ้นได้ เป็นต้น
10.2 เลือกช่วงอายุ เพศ ของกลุ่มเป้าหมาย
10.3 เลือก “กำหนดเป้าหมายแบบละเอียด”
10.4 เลือก “ความสนใจ” ของกลุ่มเป้าหมาย
- โดยพิมพ์คำที่เป็นความสนใจของกลุ่มเป้าหมายเป็นคำ ๆ ลงในช่องความสนใจ เช่น beauty , sports, football, cars เป็นต้น
- คลิกเลือกจากตัวเลือกที่แสดงขึ้นมาอีกหนึ่งครั้งเพื่อยืนยันการเลือก
- ถ้าคิดคำไม่ออก ให้กด “เลือกดู” เพื่อดูหัวข้อที่เฟสบุ๊ครวบรวมไว้ให้จำนวนมาก
- ข้อควรระวัง: ก่อนคลิกยืนยันการเลือก ให้เราดูด้านขวามือด้วย จะมีกำหนดประเภทว่าคำที่เราพิมพ์ไปนั้น เป็นความสนใจ เป็นตำแหน่งงาน เป็นสาขาวิชา หรือเป็นนายจ้าง/เจ้าของธุรกิจ ต้องเลือกให้ถูกต้อง ซึ่งส่วนใหญ่มักเลือกเป็นความสนใจ
10.5 เลือกลักษณะทางประชากรศาสตร์ของกลุ่มเป้าหมาย
มีตัวเลือกที่หลากหลายมาก อาทิเช่น
- ข้อมูลการศึกษา เช่น ระดับการศึกษา สถาบันที่จบการศึกษา ปีที่สำเร็จการศึกษา ฯลฯ
- สถานภาพ เช่น โสด แต่งงาน มีแฟน ฯลฯ
- เหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น หมั้น เพิ่งแต่งงาน เพิ่งมีแฟน เพิ่งเลิกกับแฟน ฯลฯ
- อื่น ๆ
10.6 เลือกลักษณะทางพฤติกรรม
คือ พฤติกรรมการใช้เฟสบุ๊คที่เฟสบุ๊คได้ตรวจจับและเก็บข้อมูลไว้ เช่น เป็นคนที่เป็นแอดมินของเฟสบุ๊คแฟนเพจ เป็นคนที่ผู้อยู่ต่างประเทศแต่มาท่องเที่ยว หรือ มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย เป็นต้น
10.7 เลือก “จำกัดกลุ่มเป้าหมายให้แคบลง”
- จะมีคำว่า “และยังต้องตรงตามเกณฑ์” ปรากฏขึ้นมา ค่อย ๆ กดเลือกความสนใจไปทีละอัน ๆ
- การกดเลือกข้อมูลต่อ ๆ กัน ให้อยู่ในกรอบเดียวกัน เฟสบุ๊คจะตีความเป็นคำว่า “หรือ” ผลลัพธ์คือ กลุ่มเป้าหมายจะใหญ่ขึ้น ๆ เพราะมีหลายกลุ่ม
- การกดเลือกข้อมูลแยกกรอบกัน เฟสบุ๊คอ่านค่าเป็นคำว่า “และ” กลุ่มเป้าหมายจึงแคบลง ๆ เพราะมีข้อจำกัดมากขึ้นตามที่เรากำหนด
- ให้เลือกกำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบแยกกรอบ
10.8 จำกัดกลุ่มเป้าหมายให้แคบลง โดยเลือกคำว่า “ไม่รวมผู้ที่ตรงตามเกณฑ์”
สอนยิงแอดเฟสบุ๊ค เทคนิคจากสตาร์ทอัพ นาว:
- เมื่อเลือกตามขั้นตอนแล้ว ให้สักเกตคอลัมน์ด้านขวามือ ดู “จำนวนกลุ่มเป้าหมายที่อาจเข้าถึงได้” หากกลุ่มเป้าหมายมีจำนวนสูงมาก แปลว่ากลุ่มเป้าหมายที่เลือกกว้างมากเกินไป
- การเลือกกลุ่มเป้าหมายควรต้องพิจารณาเรื่องตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์ คอนเซปท์ และราคาของสินค้าด้วย เพื่อให้ยิงไปสู่กลุ่มที่มีแนวโน้มสนใจสินค้าและเป็นกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของแบรนด์
- หากสินค้ามีราคาสูง หรือ จัดวางตำแหน่งทางการตลาดไว้สูง หรือ เป็น Niche Market ต้องพิจารณาเรื่องกำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ ทว่าเฟสบุ๊คไม่มีการเก็บข้อมูลเรื่องรายได้ เราจึงต้องใช้หัวข้ออื่น ๆ ทดแทน เช่น การศึกษา (เพราะในตลาดแรงงาน ผู้ที่จบการศึกษาสูงก็จะได้รับเงินเดือนที่สูงตามไปด้วย) หรือ อาชีพ เป็นต้น
11. กำหนดตำแหน่งการจัดวาง
- ค่า default คือ เฟสบุ๊คคิดให้เราอัตโนมัติเลยว่าโพสต์ลักษณะนี้ควรนำเสนอแพลตฟอร์มใดบ้าง
- ตำแหน่งที่มีให้เลือก ได้แก่ อินสตาแกรม, Facebook New Feed การแสดงมีทั้งมือถือ และให้ขึ้นคอมพิวเตอร์
- ให้เลือก “ตำแหน่งการจัดวางที่กำหนดเอง”
- เลือก Facebook New Feed
12. เลื่อนลงมาด้านล่าง หัวข้อ “การปรับให้เหมาะสมและการแสดงโฆษณา”
- ไม่แนะนำสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น
- เว้นไว้ แล้วกดปุ่ม “ถัดไป” ที่มุมขวาล่างได้เลย
13. หัวข้อ “การตั้งค่าโฆษณา”
- เลือกเพจธุรกิจที่ต้องการโฆษณา (กรณีที่คุณเป็นแอดมินหลายเพจ) โดยคลิกหนึ่งครั้งที่ชื่อเพจ
- เลือกโพสต์ที่ต้องการโฆษณา มี 2 ลักษณะตามที่กล่าวไปตอนต้น คือ
- สร้างโพสต์ในเพจไปก่อน แล้วค่อยไปกดสร้างโฆษณาโพสต์ทีหลัง –> คลิก 1 ครั้งที่ปุ่มลูกศรลง แล้วเลือก “ใช้โพสต์ที่มีอยู่แล้ว”
- สร้างโฆษณาไปก่อน แล้วค่อยไปสร้างโพสต์ในระหว่างขั้นตอนของการโฆษณาเลย–> คลิก 1 ครั้งที่ปุ่มลูกศรลง แล้วเลือก “สร้างโฆษณา” –> เลือกวิธีจัดรูปแบบโฆษณา
14. เลือกชิ้นงานโฆษณา
- ระบบแสดงผลด้านล่างเป็นโพสต์ล่าสุดของหน้าเพจของเรา
- กด “เปลี่ยนโพสต์”
- ระบบแสดงผลเป็นโพสต์ทั้งหมดของหน้าเพจของเรา
- กดเลือกโพสต์ที่ต้องการ 1 ครั้ง
- กด “ดำเนินการต่อ”
15. ตรวจสอบความถูกต้องของโพสต์จากพรีวิวด้านขวามือ
- ดูภาพตัวอย่างของโพสต์ที่ภาพพรีวิวที่แสดงในคอลัมน์ด้านขวามือ
- ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว กด “เผยแพร่”
16. Facebook ตรวจสอบโฆษณา
โฆษณาจะถูกนำส่งให้ Facebook ตรวจสอบว่ามีการทำอะไรผิดที่ผิดกฎเฟสบุ๊คหรือไม่ ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง
- ถ้าผ่านการตรวจสอบ Facebook จะนำส่งโฆษณาของเราสู่กลุ่มเป้าหมายที่เลือกไว้ ภายใน 24 ชั่วโมง
- ถ้าไม่ผ่านการตรวจสอบ เนื่องจากทำผิดกฎอะไรบางอย่าง Facebook จะขึ้นแจ้งเตือน ให้เราเข้าไปตรวจสอบโพสต์ที่โฆษณาอีกครั้ง
หลังจากที่โฆษณารันแล้ว สิ่งที่เราควรทำก็คือ หมั่นตรวจสอบ มอนิเตอร์ผลลัพธ์ ว่ามีการตอบรับที่ดีหรือไม่ โดยดูจากวัตถุประสงค์ที่เรากำหนดไว้ตอนยิงแอด เช่น
- เลือกการมีส่วนร่วม ดูจาก ไลค์ คอมเมนต์ แชร์
- เลือกข้อความ ดูจาก การทักอินบ๊อก
- เลือกการดูวีดีโอ ดูยอดวิว เป็นต้น
สำหรับคนที่ต้องการอัพเดทข่าวสารด้านดิจิตอล หาไอเดีย หาเทคนิคดี ๆ ในการทำการตลาดออนไลน์ ฉบับเข้าใจง่าย อย่าลืมกดติดตาม Facebook Fanpage ของ StartUp Now ได้ที่นี่ คลิกเลย
อ่านเรื่องการตลาดดิจิตอลเพิ่มเติม คลิกเลย
อยากดูคลิปความรู้ดิจิตอลฉบับเข้าใจง่ายคลิปอื่น ๆ ไปเยี่ยมชมช่อง YouTube ของ StartUp Now กัน